22 ต.ค.55 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานกสทช.ได้ประกาศผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ หรือใบอนุญาต 3 จี เมื่อวันที่ 18 ต.ค.55 ว่าวันนี้บอร์ดกทค.ได้ประกาศอัตราค่าบริการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและกำกับดูแลการให้บริการทั้งประเภทเสียง และข้อมูล ของบริการ 3 จี ให้ลดลงไม่น้อยกว่า 15 – 20 % ของอัตราค่าบริการในปัจจุบัน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวต่อว่า สำหรับประกาศนี้ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้บริการมือถือและประเทศชาติได้รับประโยชน์ เมื่อคำนวณหากปรับลดราคาลง 15 % จากอัตราค่าบริการในปัจจุบัน ผลประโยชน์จะตกกับประชาชนเฉลี่ยเดือนละ 4,571.25 ล้านบาท หรือ 54,855 ล้านบาทต่อปี หรือรวม 15 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 822,825 ล้านบาท แต่หากคิดในอัตราที่ลดลงร้อยละ 20 ของอัตราค่าบริการปัจจุบัน ผลประโยชน์จะตกกับประชาชนเฉลี่ยเดือนละ 6,095 ล้านบาท หรือ 73,143 ล้านบาทต่อปี หรือ 15 ปี รวมเป็นเงิน 1,097,145 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการปรับลดอัตราค่าบริการลง ได้อ้างอิงการวิเคราะห์ ศึกษาเงินประมูลของเอกชน เงินลงทุนโครงข่าย และอัตราค่าบริการ 3 จี รวม 3 ค่าย ได้แก่ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส , บริษัท โทเทิ่ล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในอัตราค่าเฉลี่ย 899 บาท / เดือน หลังจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ภายใน 15 วัน เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และนำเสนอบอร์ด กทค. คาดว่าใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 22 วัน นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย ระบุถึงกรณีการกล่าวหาการออกแบบประมูลเข้าข่ายพ.ร.บ.ด้วยการเสนอราคาคาต่อหน่วยงานรัฐพ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ว่าพร้อมเข้าชี้แจ้งทุกประเด็น เนื่องจากยืนยันได้ว่ากระบวนการได้ดำเนินอย่างรอบคอบ