เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ต.ค. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) กสทช. จะเดินหลังการประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ 3จี คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีของนายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ที่ขอคุ้มครองชั่วคราวหลังจากที่ได้ยี่นฟ้องว่าการประมูลไลเซ่นส์ 3จี ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 เพราะไม่ได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยศาลปกครองเห็นว่าความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นและเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งผู้ฟ้องไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และเงื่อนไขต่างๆ สามารถแก้ไข้ได้ในภายหลัง ส่วนคดีของนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และพวกรวม 6 คน ที่ยื่นฟ้องเมื่อเช้านี้ กรณีผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 (พ.ร.บ.ฮั้วะ) และขอให้ปรับราคาจาก 4,500 ล้านบาทเป็น 6,440 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้มีเหตุสมควรที่ยังไม่พิจารณา จึงรับคำร้องเอาไว้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป แต่ไม่ได้มีคำสั่งรับเป็นคดีพิจารณา สำหรับรูปแบบการประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้แบ่งการประมูลออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยจะเริ่มเคาะราคาครั้งแรกเวลา 10.00 น. จนถึงเวลา 21.00 น. ตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด โดยเตรียมห้องประมูลไว้ คือ ห้องประชุมชั้น 3 4 และ 6 โดยจะเคาะราคาจะเกิดขึ้นครั้งละ 225 ล้านบาท หรือเพิ่มครั้งละ 5% ของราคาเริ่มต้นประมูลใบละ 4,500 ล้านบาท ส่วนขั้นตอนเคาะราคาจะเคาะทุก 1 ชั่วโมง ไปจนกว่าจะไม่มีการเคาะราคาใดๆ หรือ ราคาไม่มีการเคลื่อนไหว เป็นเวลา 2 ครั้ง จะถือว่าสิ้นสุดการประมูล เมื่อสิ้นสุดแล้ว ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้เลือกตำแหน่งคลื่นความถี่ก่อน แต่หากการเคาะราคาวันแรกยังไม่ได้ข้อสรุป เอกชนจะต้องกลับมาเคาะราคาในวันถัดไป ซึ่ง กสทช.วางไว้ 3 วัน คือ 16-18 ต.ค. โดยหลังสิ้นสุดการประมูล กสทช.จะให้ไลเซ่นส์อย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ย. 2555 และประชาชนจะได้ใช้บริการ 3จี อย่างเร็วที่สุด มี.ค. 2556 ขณะที่ ความพร้อมของบริษัทผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ดีแทค เนทเวอร์ค และ เรียล ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ตามลำดับ ทั้ง 3 ประกาศพร้อมสู้ราคาเต็มที่เพื่อให้ได้ไลเซ่นส์ทั้งหมด 3 ใบ ตามเพดานการถือครองที่ กสทช.กำหนด แม้ว่าราคารวมจะสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทก็ตาม ส่วนงบประมาณที่ทั้ง 3 บริษัทลงทุนครั้งนี้ แบ่งเป็น แอดวานซ์ ไวร์เลส 5 หมื่นล้านบาท ดีแทค 4 หมื่นล้านบาท และ เรียลฟิวเจอร์ 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้ทำหนังสือเชิญตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. กับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มาเป็นสักขีพยานในการประมูลครั้งนี้ด้วย.