คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ออกมาชี้แจงจากกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ ว่า การที่กสทช.โดยกทค.ออกใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)ประกอบกิจการดาวเทียมให้กับบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นการไม่ปฎิบัติตามข้อกฎหมาย และก่อให้เกิดการผูกขาด ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ รวมทั้งมีการตีความข้อกฎหมายเข้าข้างเอกชนนั้น กทค.จึงขอชี้แจงว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมีการบิดเบือนไปจากความจริง อีกทั้งยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเกิดความเข้าใจผิดจากสาธารณชนขึ้นอีกจึงต้องการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงใน8 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1. กรณีที่ กสทช. โดย กทค. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่า การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทสาม ก. กับบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม (Satellite Network Operator) ที่มีอายุ 20 ปี โดยไม่ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ ปิดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ในการเข้าสู่ตลาดนั้น กทค.ขอชี้แจงว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 7 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตามลักษณะและประเภทที่กำหนดจะต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ดังนั้นใบอนุญาตที่ กสทช. อนุมัติให้ บมจ.ไทยคมเป็นประเภท ใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมมิใช่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงไม่ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่น ประเด็นที่ 2 มีการวิพากษ์วิจารณ์ โดยกล่าวอ้างว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ตีความว่า “ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม เป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่จึงไม่จำเป็น ต้องเปิดประมูลตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 โดยให้เหตุผลว่า…เนื่องจากดาวเทียมเป็นวัตถุที่ลอยอยู่บนฟ้าเกินกว่า 100 กิโลเมตร จึงถือว่าอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยของไทย แต่สิ่งที่ กสทช. ควรตอบก็คือ ตำแหน่งวงโคจรไม่ว่าจะ 120 หรือ 50.5 องศาตะวันออก เป็นสิทธิที่ประเทศไทยได้รับการจัดสรรจาก ITU หากยึดตามที่ กทค. ตีความว่าอยู่นอกเหนือเขตอธิปไตยก็จะไม่มีประเทศใดสามารถบังคับใช้กฎหมายในประเทศนั้นๆ กำกับดูแลการให้บริการดาวเทียมของตนได้เลย กทค. ขอชี้แจงว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารมีองค์ประกอบหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1.การมีสิทธิเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสทช. และ 2. จะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารจองสิทธิในวงโคจรและย่านความถี่ (Filing) ที่จะใช้งานสำหรับดาวเทียมที่จะนำมาให้บริการ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะได้มาโดยผ่านกระบวนการระหว่างประเทศตามข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) ซึ่งถือว่า วงโคจรและความถี่ในอวกาศเป็นทรัพยากรร่วมของมนุษยชาติ มิได้อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐหนึ่งรัฐใด ตามธรรมนูญของ ITU (ITU Constitution) และกฎข้อบังคับวิทยุ ITU Radio Regulation ข้อ 0.3 (Preamble) ดังนั้นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. จึงมีเฉพาะ ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามข้อ (1) เท่านั้น ส่วนการดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารจองสิทธิในวงโคจรและย่านความถี่ (Filing) ตามข้อ (2) นั้นจะต้องดำเนินการโดยกระบวนการระหว่างประเทศตามข้อกำหนด ITU ประเด็นที่ 3. มีการตั้งข้อสังเกตว่า…ในประเทศที่ดาวเทียมแต่ละดวงใช้คลื่นความถี่ไม่เหมือนกัน เช่น C-Band, KU-Band หากให้ผู้ใช้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นผู้ประมูลคลื่นความถี่ แปลว่า ทุกรายต้องประมูลคลื่น “ทุกชนิด” เพื่อให้บริการผ่านช่องสัญญาณความถี่ดาวเทียมที่ต่างกันทั้งหมด ซึ่งไม่สมเหตุสมผลและคลื่นความถี่มาตรฐานอย่าง C-Band, KU-Band ผู้ประกอบการหลายรายสามารถใช้งานในย่านเดียวกันและเวลาเดียวกันได้อย่างไม่จำกัด (ต่างจากตำแหน่งวงโคจรที่มีจำกัด) การมี่ให้ผู้ให้บริการสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินที่ต้องประมูลคลื่นจะเป็นการจำกัดการแข่งขันในตลาดโดยไม่จำเป็น กทค.ขอชี้แจงว่า ผู้ประกอบกิจการที่ภาคพื้นดินซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีภาคพื้นดินต่างๆ เช่น สถานี Up Link Down Link (ตัวอย่าง TOT, CAT) โดยผู้ประกอบกิจการสถานีภาคพื้นดินดังกล่าว เป็นผู้ใช้ความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นผู้ใช้ความถี่ในการรับ-ส่งสัญญาณภายใต้ราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น จำเป็นต้องจัดสรร โดยวิธีการประมูลเท่านั้น ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่ง กสทช. จะต้องดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประมูลสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ที่ภาคพื้นดินให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อไป ประเด็นที่ 4. มีการกล่าวอ้างถึงความผิดปกติในการให้ใบอนุญาต โดยหยิบยกเอา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 45 ที่กำหนดว่าการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด…. แต่การอนุมัติใบอนุญาตให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) ของ กทค. กลับมีขึ้น ในขณะที่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมยังอยู่ในขั้นตอนการร่างเท่านั้น โดยที่ “เงื่อนไขสำคัญ” ในหลักเกณฑ์ดังกล่าว คือประเด็นเรื่องใครควรเป็นคนประมูลคลื่นความถี่ยังไม่ได้ข้อยุติ กทค. ขอชี้แจงว่า กรณีที่ กสทช. ออกใบอนุญาตให้กับ ไทยคม เป็นการอนุญาตประกอบกิจการประเภทสาม (มิใช่ประเภทสาม ก. ) ซึ่งมีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ปรากฏอยู่แล้ว และ กสทช. มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมแต่ละประเภท (ประเภทหนึ่ง ประเภทสอง หรือ ประเภทสาม) ประเด็นที่ 5 ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 เห็นชอบให้รักษาวงโคจร 120 องศาตะวันออก ภายหลังดาวเทียมไทยคม 1 ปลดระวางไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 ขณะที่บริษัทไทยคมได้ลากดาวเทียมเอเชียแซท 6 ของฮ่องกงเข้ามาในตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวแล้ว ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิวงโคจรดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องคืนให้กับ ITU แล้วเหตุใด กทค. จึงต้องเร่งรัดอนุมัติใบอนุญาตให้กับบริษัท ไทยคม กทค. ขอชี้แจงว่า การรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม (Filing) ดังกล่าวนั้น โดย ไทยคม จะดำเนินการรักษาสิทธิโดยการนำดาวเทียมมาวางไว้ ณ วงโคจรเป็นการชั่วคราว (ในที่นี้หมายถึงวงโคจร 120 องศาตะวันออก) เพื่อให้เป็นตามข้อกำหนด ITUซึ่งจะต้องนำดาวเทียมอีกดวงหนึ่งขึ้นให้บริการภายในระยะเวลา 2 ปี ขณะเดียวกัน ไทยคม ได้ดำเนินการภายใต้มติ ครม. ที่อนุมัติให้ ไทยคม ดำเนินการรักษาสิทธิวงโคจรและจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นตามข้อกำหนด ITU ซึ่งหาก กสทช.ไม่ดำเนินการอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับ บมจ.ไทยคม จะส่งผลทำให้ ไทยคม ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และหากกรณีไม่มีดาวเทียมขึ้นให้บริการภายใน 2 ปี (ตามหลัก ITU)ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิวงโคจรดาวเทียม (Filing) ที่ได้รักษาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศ ประเด็นที่ 6 ที่มีการกล่าวอ้างว่า เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่อาจจะกีดกันการแข่งขันในกิจการดาวเทียม เนื่องจากใบอนุญาตที่ กสทช. ให้กับไทยคมที่มีอายุ 20 ปี ได้กำหนดเงื่อนไขว่า…บริษัท ไทยคมสามารถขอต่ออายุใบอนุญาตได้อีก 10 ปี ทั้งที่ควรกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องคืนตำแหน่งวงโคจรกลับมาจัดสรรใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์ตำแหน่งวงโคจรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กทค. ขอชี้แจงว่า มีการเข้าใจผิดในสาระสำคัญอย่างยิ่ง โดยข้อเท็จจริงภายใต้เงื่อนไขการออกใบอนุญาตระบุไว้ว่าหากผู้ประกอบการประสงค์จะขยายระยะเวลาการอนุญาตจะต้องดำเนินการยื่นคำขออนุญาตก่อนใบอนุญาตหมดอายุไม่เกิน 10 ปี และไม่ช้ากว่า 30 วัน ซึ่งระยะเวลา 10 ปี นั้นเป็นระยะเวลาที่พอเพียงในการที่ผู้ประกอบการประสงค์จะสร้างดาวเทียมขึ้นให้บริการต่อไป ประเด็นที่ 7 ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เงื่อนไขว่า…ให้บริษัท ไทยคม ส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานวงโคจรเพิ่มเติมที่ตำแหน่งวงโคจรใดๆ ได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบริษัท ไทยคม ที่เป็นผู้ประกอบการรายเก่าในการขยายสิทธิการใช้วงโคจรที่มีอยู่อย่างจำกัด จนอาจทำให้ไม่มีวงโคจรเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ กทค.ขอชี้แจงว่า เป็นการก็เข้าใจผิดอย่างยิ่งเช่นกัน.…โดยข้อเท็จจริง ITU มิได้มีการจำกัดจำนวนสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะจองสิทธิแต่อย่างใด ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเพื่อผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารทุกรายที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก็สามารถที่จะส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานวงโคจร (Filing) ที่วงโคจรใดๆ ก็ได้เช่นกัน มิใช่เป็นการอนุญาตหรือให้สิทธิเป็นการเฉพาะแก่ บมจ.ไทยคม ประเด็นที่ 8 มีการตั้งคำถามมายัง กสทช. ว่า ควรให้คำตอบแก่สาธารณชนถึงเบื้องหลังการตัดสินใจเชิงนโยบายและการดำเนินการต่างๆ ทั้งการตีความว่า…การให้ บริการช่องสัญญาณดาวเทียม เป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ความผิดปกติในการอนุมัติใบอนุญาตให้กับบริษัท ไทยคม อย่างเร่งรัด และเป็นไปแบบ “เหนือเมฆ” มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางรายผูกขาดกิจการดาวเทียมนั้น อย่างไรก็ดี การชี้แจงประเด็นต่างๆในข้างต้นของ กทค.นั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กสทช. โดย กทค.ได้พิจารณาออกใบอนุญาตดาวเทียมสื่อสารตามข้อกำหนดของกฎหมายและเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ รวมทั้งเป็นข้อกำหนดที่เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่ได้ต่อไปในอนาคต