7 ธ.ค. 55 พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผบก.ปอศ.ในฐานะโฆษกบก. ปอศ. เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก. ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นบริษัทร่วมทุนจากญี่ปุ่นสามแห่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด พบการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่ากว่า 32.7 ล้านบาท โดยหนึ่งในสามเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นใน จ.ชลบุรี ที่ผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะและเครื่องยนต์ มีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของซีเมนส์ (Siemens) มูลค่าสูงถึง 19.5 ล้านบาท นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่าสูงสุดของปีนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเข้าตรวจค้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์พลาสติกในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นชาวญี่ปุ่นเป็นเจ้าของโดยถือหุ้นกว่าร้อยละ 94 บริษัทแห่งนี้ถูกเข้าตรวจค้นเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และถูกตั้งข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของซีเมนส์ เป็นมูลค่า 11.7 ล้านบาท พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ถูกพบมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนตุลาคมเราได้ลงมือปฏิบัติการกับบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงและสถานะการเงิน แต่มีบริษัทจำนวนไม่น้อยยังคงเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ย.นี้ บก.ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจ 173 แห่งทั่วประเทศ และพบว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 4,286 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 420 ล้านบาท โดยองค์กรธุรกิจเหล่านั้นอยู่ในภาคการผลิตและการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมสูงถึง 76,014 ล้านบาท และรายได้ต่อปีรวมกันถึง 126,868 ล้านบาท สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมถึงลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยด้วย องค์กรธุรกิจที่พบว่ามีความผิดอาญาฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านกฎหมาย และโอกาสที่การดำเนินธุรกิจอาจต้องหยุดชะงัก นอกจากนี้ ผู้บริหารและฝ่ายบริหารของบริษัทอาจต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ด้วย ทั้งนี้ บก.ปอศ. ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเป็นผู้นำในการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเอเชีย และเป็นผู้ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List หรือ PWL) ตามรายงานพิเศษของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการประเมินและจัดอันดับประเทศคู่ค้าแต่ละรายในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บก.ปอศ. ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาคการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยังสูงอยู่ ส่วนองค์กรธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย คือ บริษัทแอนิเมชั่น โรงงาน ผู้ผลิตอาหาร สิ่งทอ รถยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐ ก็ยังเดินหน้าสร้างความรู้แก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งในรูปแบบองค์กรธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไป เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ และการใช้ซอฟต์แวร์แบบมีไลเซ็นต์ถูกต้อง เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันแล้ว ที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี โดยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงจากร้อยละ 80 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 72 ในปี 2554 ตามรายงานการศึกษาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกของไอดีซีเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา.