สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ไอทีเมามันส์ ทุกคน พบกันเป็นประจำเช่นเคยกับการอัพเดทข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับครั้งนี้เราก็มีข่าวสำคัญจะมาแจ้งให้ทุกคนได้ทราบว่า ตอนนี้ สหรัฐฯ ได้เริ่มปลูกต้นไม้ตัดแต่งพันธุ์กรรม ทำให้นักวิทย์ฯ หลายคนกังวลว่ามันจะเสี่ยงกลายพันธุ์ ทำลายระบบนิเวศ
รายละเอียดเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เรามาติดตามกันเล้ยย
- ปัจจุบันเมื่อนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้แค่ตัดแต่งพืชเพื่อผลิตอาหารให้มากขึ้นและทนทานศัตรุูพืชมากขึ้นเท่านั้น พวกเขายังสร้างต้นไม้ที่แข็งแกร่ง โตเร็ว และช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- โดยตอนนี้หลายๆ ประเทศกำลังใช้การปลูกต้นไม้เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวทางนี้มีแนวคิดที่ว่าการปลูกต้นไม้จะเพิ่มการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นกลไกที่พืชเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจนที่หายใจเข้าไปได้
- ส่วนคาร์บอนถูกเปลี่ยนเป็นชีวมวลหรือเก็บไว้ในดิน เพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่เรียกว่าอ่างคาร์บอน (carbon sinks)
- ประเด็นก็คือคาร์บอนที่ต้นไม้ไม่ได้ถูกกักไว้ตลอดกาล มันยังมีโอกาสหลุดออกมาได้ลายวิธี ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงคิดหาวิธีตัดแต่งพันธุกรรมต้นไม้เพื่อให้มันเป็นที่กักคาร์บอนได้ถาวรยิ่งขึ้น
- นอกจากนี้ เพราะปัญหาโลกร้อนยังทำให้ศัตรูพืชมีอายุขัยยาวนานขึ้น เช่น แมลงบางพันธุ์จะตายช่วงฤดูหนาว แต่โลกที่ร้อนขึ้นทำให้ฤดูหนาวสั้นลง พวกมันก็อยู่ทำลายต้นไม้ได้นานขึ้นด้วย
- นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าต้นไม้ตัดแต่งพันธุกรรมสามารถช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วยการสร้างต้นไม้ที่โตขึ้นเร็วขึ้น ต้านทานโรคระบาดและศัตรูพืช และต้นไม้แบบใหม่ ยังดูดคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้ดีขึ้นผิดหูผิดตา มันสามารถเปลี่ยนคาร์บอนให้กลายเป็นผงสีขาว ทำให้คาร์บอนเป็นวัตถุที่เสถียรขึ้นแล้วตกลงสู่พื้นดิน
- เมื่อเดือนกันยายน มีรายงานชิ้นหนึ่งจากลุ่มผลักดันนโยบายด้านนวัตกรรมในสหรัฐอเมริกาเสนอให้พัฒนาต้นไม้ที่เสริมสร้างพันธุกรรมให้เป็นอ่างคาร์บอนที่ดูดคาร์บอนได้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และอ่างคาร์บอนธรรมชาติในดินเป็นวิธีการต้นทุนต่ำที่จะช่วยลดคาร์บอนในสหรัฐอเมริกาได้ถึง 10% จากการปล่อยก๊าซทั้งหมดในประเทศ
- พวกเขายังเสนอให้ตัดแต่งพันธุกรรมการสังเคราะห์แสงของพืชเพราะตอนนี้ศักยภาพการสังเคราะห์แสงของพืชอยู่แค่ 1 – 2% จากแสงที่ตกกระทบลงมาบนพืช แต่พวกพืชมีศักยภาพสูงกว่านั้นคือสังเคราะห์ได้ 12% และการปรับปรุงประสิทธิภาพของการสังเคราะห์แสงจะช่วยลดก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาและสามารถกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศโดยมีต้นทุนที่ประหยัดลง
- รายงานตั้งความหวังเอาไว้สูงถึงขนาดบอกว่าการตัดแต่งพันธุกรรมพืชเกษตรจะช่วยลดภัยคุกคามต่อป่าไม้พื้นเมืองสามารถลดลงได้เพราะป่าไม้ในปัจจุบันถูกทำลายเพราะผู้คนต้องการพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก เช่น การรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทำลายป่าแอมะซอนเพื่อเลี้ยงวัวควายและปลุกถั่วเหลืองในบราซิล การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยทั่วไปจะลดแรงกดดันต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติแบบนี้
- ตอนนี้มีประเทศที่เริ่มนำวิธีการตัดแต่งพันธุกรรมต้นไม้มาแก้ไขธรรมชาติแล้ว คือประเทศจีนได้มีการปลูกต้นป็อปลาร์ตัดแต่งพันธุกรรม (GM Poplars) จำนวน 4 ล้านต้นในประเทศจีนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘กำแพงสีเขียว’ ของจีนซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางการรุกคืบของทะเลทราย
- แต่มีความกังวลมากมายเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรม เช่น กลัวกันว่ามันอาจจะคุกคามระบบนิเวศและที่สำคัญก็คือมันเป็นอันตรายหรือไม่? เช่น ในจีนอีกนั่นเองที่มีรายงานระบุว่าต้นป็อปลาร์ตัดแต่งพันธุกรรมแพร่กระจายไปนอกพื้นที่ปลูกเดิมจนปนเปื้อนกับต้นป็อปลาร์พื้นเมืองจนพบการกลายพันธุ์ อาจทำให้พวกมันทนต่อยาฆ่าแมลง และอาจจะทำให้ต้นป็อปลาร์ฆ่าได้ยากจนกลายเป็นพืชต่างถิ่นที่เข้าไปรุกรานพื้นที่อื่น
และนี่ก็คือข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจด้านสิ่งแวดล้อมที่เราอยากแจ้งให้เพื่อนๆ ทุกคนได้ทราบในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมพืชนั้นมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังคงไม่อาจจะทราบได้ ทำให้หลายฝ่ายยังคงกังวลใจไม่น้อย