10 สัญญาณ อาการสปอยล์

Must Read

10 สัญญาณ อาการสปอยล์
ว่ากันว่า… เจ้าตัวน้อยวัยเบบี๋จะไม่ถูกสปอยล์ด้วยความรัก ความเอาใจใส่จากการกอด และการอุ้มอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อผ่านช่วงเวลาของวัยแบเบาะเข้าสู่วัยเตาะแตะแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจต้องกลับมาสำรวจพฤติกรรมของคุณเองสักหน่อย เพราะบางสิ่งที่คุณเคยทำ กับลูกวัยทารกนั้น อาจกลายเป็นยาพิษที่สปอยล์เจ้าตัวดีวัยซนได้ ว่าแล้วมาสำรวจพฤติกรรมลูกรักของคุณกันดีกว่าว่าเจ้าตัวดีในวันนี้เริ่มมีอาการที่ส่งสัญญาณว่าจะกลายเป็นเด็กสปอยล์แล้วหรือยัง

มีอารมณ์กราดเกรี้ยวบ่อยๆ…

หากหนูน้อยหงุดหงิดง่าย… หนำซํ้ายังแสดงอารมณ์กราดเกรี้ยวโวยวาย ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน นี่คือสัญญาณแรกๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง เพราะหากพลาดพลั้งปล่อยให้พฤติกรรมนี้ยืดเยื้อ ลูกน้อยอาจกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจที่ยากจะเยียวยา

เติมไม่เต็ม…

อาการนี้… คล้ายกับการรักเขาข้างเดียวทำอะไรให้เขาก็ไม่เคยพอใจ เติมเท่าไรก็ไม่เคยเต็ม เจ้าตัวน้อยที่เริ่มเอาแต่ใจหรือกำลังจะกลายเป็นเด็กสปอยล์ มักจะไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่มี แม้ว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สรรหามาให้จะดีเพียงใด แต่หากหนูน้อยเห็นคนอื่นมีสิ่งที่ตนเองไม่มี ก็จะแสดงอาการอยากได้ และเริ่มไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีในทันใด

ไม่ชอบช่วยเหลือ…

ไม่มีเด็กคนไหน… ชอบที่จะทำงานบ้านหรอกค่ะ แต่เมื่อเข้าสู่วัยอนุบาล หนูน้อยน่าจะแสดงอาการอยากช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น เก็บของเล่นของตัวเอง หรือวางรองเท้าให้เป็นระเบียบ หากลูกของคุณมีอาการฟึดฟัดทุกทีที่คุณบอกว่าให้ช่วยเก็บของเล่น นี่อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเสียแล้ว

จอมบงการ…

หากเจ้าตัวดี… มักคอยบงการผู้ใหญ่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายาย หรือกระทั่งพี่น้องวัยใกล้เคียงกัน คุณควรระวังให้ดี เพราะเด็กที่มีอาการเอาแต่ใจนั้น มักไม่ค่อยชอบฟัง และทำตามผู้อื่น แต่ชอบที่จะให้ผู้อื่นฟัง และทำตามตนเองอยู่ฝ่ายเดียว

ทำให้คุณขายหน้าในที่สาธารณะ…

งอแง… เอาแต่ใจบ้างเวลาออกไปข้างนอกเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กทุกคนที่อาจเหนื่อย เพลีย หิว เบื่อหน่าย แต่เมื่อใดก็ตามที่เจ้าตัวน้อยจงใจจะทำให้คุณขายหน้า ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอาการสปอยล์ค่ะ

ไม่แบ่งปัน…

การแบ่งปัน… เป็นทักษะหนึ่งที่ยากสำหรับเจ้าตัวน้อย แต่ก็สามารถฝึกกันได้ อย่างไรก็ตามเมื่ออายุครบ 4 ปี หนูน้อยควรเริ่มเข้าใจคำว่าแบ่งปัน และเริ่มแบ่งของเล่น ขนม ฯลฯ ให้พี่น้อง และเพื่อนสนิทด้วยความเต็มใจบ้างแล้ว

เมินหน้าใส่…

เด็กๆ ส่วนใหญ่… ไม่ชอบได้ยินคำว่า “อย่านะ” “ไม่ได้” “ห้ามเด็ดขาด” จากผู้ใหญ่ แต่หากคุณพูดกับลูกแล้วเขาเมินหน้าใส่ และทำท่าไม่สนใจบ่อยครั้ง ควรระวังให้ดี

ต้องอ้อนวอน…

พ่อแม่ผู้ปกครอง… มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลให้เจ้าตัวน้อยมีสวัสดิภาพที่ดีในชีวิต ดังนั้นการออกคำสั่งอย่างมีเหตุผล เจ้าตัวน้อยควรจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากถึงขั้นที่คุณต้องอ้อนวอนร้องขอ เพื่อให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่าง นี่อาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก

เล่นคนเดียวไม่ได้…

เมื่ออายุ 4 ขวบ… เด็กทั่วไปควรเล่นคนเดียวโดยไม่ต้องร้องเรียกคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลาได้บ้างแล้ว แต่หากลูกยังร้องเรียกหาเพื่อนเล่นตลอดเวลา นี่อาจเป็นการเรียกร้องความสนใจอีกวิธีหนึ่งของเจ้าตัวดีจอมเอาแต่ใจ

ต้องติดสินบน…

“ถ้าเก็บของเล่น เดี๋ยวจะให้กินไอติม”… เคยใช้ประโยคนี้กับลูกไหมคะ แม้ว่าจะเป็นการติดสินบนที่ไม่ใหญ่โตอะไร แต่หากเป็นสิ่งที่ลูกต้องทำตาม “หน้าที่” แล้วคุณไม่ควรให้รางวัลหรือหลอกล่อด้วยสิ่งที่ลูกต้องการ เพราะลูกจะติดนิสัยทำ เพราะต้องการสิ่งตอบแทน มากกว่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นเป็นหน้าที่

สยบสปอยล์ด้วย 3 ส.

หากว่า… เจ้าตัวน้อยของคุณเริ่มมีอาการเหมือนกับหลายๆ ข้อข้างต้น อย่างเพิ่งตกใจค่ะ หายใจเข้า-ออกลึกๆ แล้ว มาเริ่มกันใหม่ ทุกอย่างแก้ไขได้ แต่การจะแก้พฤติกรรมของลูกนั้นต้องเริ่มจากพ่อแม่ ซึ่งอาการสปอยล์ของลูกน้อยจะค่อยๆ หายไปได้ ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่จดจำ 3 ส. ต่อไปนี้ให้ขึ้นใจ

สติ…

ตั้งกฎเกณฑ์ภายในบ้านให้ชัดเจน…อะไรที่ลูกทำได้ ทำไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาที่ลูกเหวี่ยงวีน หรือแสดงอาการเอาแต่ใจใดๆ ขึ้นมา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีอยู่เสมอคือ สติ อย่าลืมกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันก็ควรโต้ตอบลูกอย่างสงบ ใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ตวาดขึ้นเสียง แต่ใช้การอธิบายด้วยเหตุผล หากลูกมีอาการมากขึ้น ไม่ยอมฟัง อาจเดินหนีไปก่อน แล้วค่อยกลับมาอธิบายให้ลูกฟังเมื่อเจ้าตัวดีสงบลงแล้ว

สม่ำเสมอ…

เมื่อตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว… ความสมํ่าเสมอเป็นสิ่งสำคัญหากคุณเคยบอกลูกว่าสิ่งใดทำได้ ทำไม่ได้ ก็ควรจะยึดหลักนั้นอย่าง
คงเส้นคงวา ไม่ใช่ทำตามอารมณ์วันนี้ทำได้ แต่พรุ่งนี้ไม่อนุญาตให้ทำ หากขาดความสมํ่าเสมอเด็กๆ จะไม่ได้เรียนรู้เลยว่าสิ่งที่ควรไม่ควรคืออะไร และก็อย่าแปลกใจหากลูกจะมีพฤติกรรมทำตามอารมณ์เป็นใหญ่ เพราะหนูน้อยเรียนรู้จากการเลียนแบบนั่นเอง

สามัคคี…

คุณไม่สามารถแก้พฤติกรรมของลูกได้…หากทุกคนในบ้านไม่ร่วมมือกัน ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรนั่งพูดคุย และหาวิธีที่ทุกคนเห็นตรงกัน ยึดกฎเกณฑ์เดียวกันในการเลี้ยงลูก สิ่งนี้จำเป็นมากในการที่จะปลูกฝังหรือแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเจ้าตัวเล็ก เพราะหากคนหนึ่งกำลังสอน แต่อีกคนบอกว่าไม่เป็นไร เจ้าตัวน้อยก็อาจสับสนไม่รู้จะเชื่อใครดี ดังนั้น หากผู้ใหญ่เห็นไม่ตรงกัน ควรมาปรึกษากันภายหลัง และหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้

ที่มา : http://care.mothersdigest.in.th/

อัพเดท! ก่อนใคร

เรื่องราวเจ๋งๆ ล้ำๆ สดใหม่ถึงคุณโดยตรงเพียงแค่กรอก Email ไว้เท่านั้น

รายละเอียดเงื่อนไขที่ privacy policy.

- Advertisement -

Latest News

สรุปสถานการณ์ตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก: ผลกระทบจาก Fed, ราคาน้ำมัน

ตลาดหุ้นทั่วโลกประสบกับการปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้านราคาน้ำมันพบกับความผันผวน โดยมีการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อน และลดลงในวันที่ 8 เมษายน หลังการเจรจาหยุดยิงในตะวันออกกลาง ทองคำก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวในไต้หวันส่งผลกระทบจำกัดต่ออุตสาหกรรมผลิตชิป และตลาดหุ้นจีนได้รับประโยชน์จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด เงินเฟ้อในยุโรปก็แสดงถึงการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การลดดอกเบี้ยจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนมิถุนายน ด้านผู้จัดการกองทุนต่างคาดการณ์ว่าตลาดโดยรวมจะแกว่งตัวตามข้อมูลเงินเฟ้อและผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐฯ ภาพรวมตลาดที่ผ่านมาแกว่งตัวในแนวข้าง...
- Advertisement -

More Articles Like This