นักเรียนยุคดิจิตอลไม่ต้องเสียเงินซื้อตำราเรียนให้เปลืองสตางค์ แล้ว เพราะวันนี้อเมซอน (Amazon) เปิดตัวบริการเช่าตำราเรียนหรือ textbook สำหรับทั้งผู้ที่มีและไม่มีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “คินเดิล (Kindle)” ให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเช่าตำรามาอ่านชั่วคราวในเวลาต่ำสุด 30 วัน แถมสามารถขีดเขียนลงในตำราได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวเปื้อน ซึ่งนักเรียนสามารถ”เช่าใหม่อีกครั้ง”เพื่อย้อนกลับมาอ่านโน้ตที่เคยเขียน ไว้แม้จะหมดเวลาเช่าตำราไปแล้วก็ตาม อเมซอนอธิบายว่าบันทึกที่นักเรียนเขียนไว้บนตำราเรียนซึ่งเช่ามา จากบริการ Kindle Textbook Rental จะถูกจัดเก็บแยกไว้บนบริการคลาวด์คอมพิวติงของอเมซอน โดยสามารถเชื่อมต่ออัตโนมัติหากมีการเช่าตำราเล่มเดิมซ้ำอีกครั้ง เช่นเดียวกับตำแหน่งที่นักเรียนเคยเน้นสีหรือไฮไลท์ไว้ ก็จะปรากฏในจุดเดิม ถือเป็นจุดเด่นสำคัญของบริการ Kindle Textbook Rental จุดนี้ยังไม่มีข้อมูลว่านักเรียนจะสามารถโน้ตหรือไฮไลท์ได้สูงสุด เท่าใด แต่ทั้งอเมซอนและสำนักพิมพ์ต่างยืนยันว่าบริษัทมีนโยบายสนับสนุนมุมมองของ นักเรียนว่าสนใจเนื้อหาส่วนใดของตำราอย่างเต็มที่ แม้จะหมดเวลาเช่าลงไปแล้วก็ตาม ขณะนี้ สำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมบริการเช่าตำราเรียนกับอเมซอนนั้นได้แก่ John Wiley & Sons, Elsevier, Taylor & Francis และ Oxford University Press คาดว่าจะช่วยให้นักเรียนสามารถประหยัดค่าซื้อหนังสือเรียนได้มากกว่า 50% หากเลือกเช่าตำราเรียนในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (eBook) จากร้าน Kindle Store ด้วยบริการ Kindle Textbook Rental นักเรียนจะสามารถเลือกเช่าเป็นระยะเวลาได้ตามต้องการ ต่ำสุดคือ 30 วันหรือจะเช่านานเป็นปี โดยสามารถขยายระยะเวลาการเช่าภายหลังได้ ขณะนี้มีรายการหนังสือเรียนให้เช่านับหมื่นเรื่อง ซึ่งนักศึกษาที่ ไม่มีเครื่อง Kindle ก็สามารถอ่านจากคอมพิวเตอร์ทั้งพีซี, แมคอินทอช, ไอแพด, ไอพ็อดทัช, ไอโฟน, แบล็กเบอรี, โทรศัพท์มือถือวินโดวส์โฟน และแอนดรอยด์ ผ่านแอปพลิเคชัน Kindle สนนราคาค่าเช่าตำราของ Kindle Textbook Rental นั้นจะต่ำกว่าราคาเล่มหนังสือจริงมากกว่า 50% เช่น ตำราวิชาบัญชีที่มีราคาจำหน่ายในสหรัฐฯ 109 เหรียญ นักศึกษาสามารถเช่ากับอเมซอนได้ในราคา 38 เหรียญ (ระยะเวลาเช่า 1 เดือน) ซึ่งแต่ละเล่มจะถูกกำหนดราคาต่างกันไปตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเช่าตำราเรียนอาจจะเป็นผลเสียต่อกระบวนการเรียนรู้ และจดจำของนักเรียน เนื่องจากของนักเรียนส่วนใหญ่มักจะเปิดหาเนื้อความจากความจำว่า เคยอ่านข้อความนี้จากส่วนใดของเล่ม (ช่วงหน้าแรก กลาง หรือท้ายเล่ม) หรือจากส่วนใดของหน้า ซึ่งการอ่านจากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะทำให้นักเรียนไม่สามารถสัมผัสความ หนา-บางของเล่มได้ การเรียกดูเนื้อหาบนหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จึงทำได้ยากกว่า ยังไม่มีรายงานการเปิดให้เช่าตำราเรียนภาษาไทยในขณะนี้ Company Related Link : Amazon @CyberBiz