“จากจุดเริ่มต้นที่ได้ไปเดินชมงานคอมพิวเตอร์เมื่อประมาณปลายปี 2552 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานครั้งนั้นได้เห็นผู้บริหารของกูเกิล มาพูดถึงแอพพลิเคชั่นแผนที่ และสตรีทวิวของกูเกิล มีคนถามว่าเมื่อไรจะมีสตรีทวิวในเมืองไทย ก็ได้รับคำตอบว่าอีกไม่นาน จึงเกิดความคิดว่าน่าจะทำสตรีทวิวขึ้นเองดู โดยไม่ต้องรอกูเกิล เพราะในขณะนั้นมีสตรีทวิวอิสระของชาวต่างชาติอยู่แล้ว เช่น MapJack จึงเริ่มต้นศึกษาการทำงานของระบบและความเป็นไปได้ในการพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง” คือที่มาโครงการ แบงค็อก สตรีทวิว(Bangkok StreetView) จากคำบอกเล่าของ นายณัฐชนน เวชสิทธิ์ นิสิตสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของโครงการสตรีทวิวสัญชาติไทยโดยคนไทย ที่หวังให้เป็นโครงการเพื่อสังคมและประเทศชาติ ไม่ได้หวังผลเชิงพาณิชย์ เพียงหวังเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และเป็นการใช้ความรู้ที่ได้มาทำในสิ่งมีประโยชน์ น้องณัฐชนน กล่าวต่อว่า ครั้งนั้นทางกูเกิลบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนทั่วไปจะทำ เพราะต้องใช้ทรัพยากรด้านบุคคล เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลที่ใหญ่และทุนมหาศาล ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ระบบฐานข้อมูลมากมาย จึงถือเป็นสิ่งท้าทายและแปลกใหม่ที่จะทำสตรีทวิวสัญชาติไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จึง เริ่มพัฒนาโปรแกรมนี้มาประมาณ 3 ปีแล้ว เดิมวางแผนไว้ว่าโครงการระยะแรกจะเสร็จปลายปี 2554 แต่ไม่สามารถถ่ายและตัดต่อภาพให้ทันตามกำหนด มีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ รวมทั้งความล่าช้าในการเขียนโปรแกรม เพราะเป็นงานที่ใหญ่ ต้องเขียนซอฟต์แวร์เองทั้งหมด ส่วนงานถ่ายรูปและตัดต่ออาศัยคุณพ่อช่วยบ้าง นอกนั้นก็ต้องปล่อยให้เครื่องทำการสร้างภาพพาโนรามาไปเกือบทั้งวัน น้องณัฐชนน กล่าวต่อว่า ซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำสตรีทวิวนั้น ไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต จึงต้องพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่มารองรับระบบใหม่เกือบทั้งหมด และการพัฒนาโปรแกรม 3 มิติ บนแพลตฟอร์มแฟลช ( Flash) ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับตนเองอยู่ จึงทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างช้า ๆ ตลอด 3 ปี เพราะต้องให้เวลาในการเรียนที่มหาวิทยาลัยด้วย สำหรับการถ่ายภาพ มีเพียงกล้องดีเอสแอลอาร์ตัวเดียว การถ่ายภาพพาโนรามาจึงต้องอาศัยแรงงานเป็นหลัก โดยทุก ๆ จุดที่เดินได้ จะต้องถ่ายภาพประมาณ 10 ภาพ รอบทิศ และสูงสุด 55 ภาพ หากเป็นจุดที่มีมุมมองมุมสูงด้วย และการลงจุดพาโนรามาบนแผนที่จะอาศัยการกะระยะด้วยสายตาจากในภาพที่ถ่ายได้ จึงต้องใช้แรงงานและความประณีตเพื่อให้ภาพที่ออกมามีคุณภาพ ส่วนขั้นตอนในการทำ ต้องวางแผนและศึกษาข้อมูลของสถานที่ที่จะถ่ายภาพ เดินทางไปสำรวจ จากนั้นวางแผนเส้นทาง และลงจุดที่จะทำการถ่ายรูปในสถานที่นั้นบนแผนที่กระดาษ เมื่อได้แล้วก็เดินถ่ายรูปในสถานที่เป้าหมาย แล้วนำรูปที่ถ่ายกลับมาต่อเป็นภาพพาโนรามา 360 องศา โดยใช้โปรแกรมพาโนรามา เสร็จแล้วนำภาพมากะระยะจับคู่กับตำเหน่งพิกัด ในโปรแกรมแผนที่ที่เขียนขึ้นเอง และเชื่อมโยงแต่ละจุดที่ลงไว้ในโปรแกรมแผนที่เข้าด้วยกันเป็นเส้นทาง และจัดภาพแต่ละจุดให้ตรงทิศ แล้วก็เขียนโปรแกรมแสดงภาพ และออกแบบเว็บไซต์ เสร็จแล้วนำโปรแกรมแสดงภาพและหน้าเว็บไซต์ พร้อมกับข้อมูลแผนที่และภาพพาโนรามาขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สนใจเข้าชม ด้านงบประมาณในการพัฒนา น้องณัฐชนน บอกว่า ปกติจะต้องใช้เงินหลายแสนบาทขึ้นไป ทั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบพิเศษ ระบบทำทางที่แม่นยำ และบุคลากรมากมาย รวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์สมรรถภาพสูงเพื่อประมวลผลภาพถ่ายพาโนรามา แต่เนื่องจากไม่มีงบประมาณขนาดนั้น จึงอาศัยใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด เงินส่วนใหญ่จะใช้ไปเพื่ออัพเกรดระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้รองรับงานการต่อภาพพาโนรามาให้ได้เร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาต่อภาพพาโนรามาถึง 1 ชั่วโมงต่อจุด หลังจากอัพเกรดใช้เวลา 25 นาทีต่อจุด รวมแล้ว 3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบไปห้าหมื่นกว่าบาท ทั้งนี้ปัจจุบันโครงการครอบคลุมพื้นที่หลัก ๆ ซึ่งเป็นที่หมายหลักของนักท่องเที่ยวเกือบหมดแล้ว มี 120 สถานที่สำคัญ ๆ รวมประมาณ 2,000 จุดที่สามารถเดินได้ ครอบคลุมกรุงเทพฯชั้นใน เขตพระนคร ดุสิต พญาไท สัมพันธวงศ์ และฝั่งธนบุรีบางส่วน ในอนาคตจะขยายเจาะลึกเข้าไปในส่วนที่เป็นชุมชนเก่าแก่ หัตถกรรมพื้นบ้าน และยังมีแผนจะต่อเชื่อมเส้นทางไปทางด้านสยามยาวไปถึงหัวลำโพงด้วย สำหรับการใช้งาน ผู้ใช้สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ www.bangkokstreetview.in.th ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตที่มีโปรแกรมแฟลช เพลเยอร์ ได้ทันที โดยผู้ใช้สามารถกดเดินตามถนนในมุมมองสตรีทวิว หรือเลือกสถานที่สำคัญที่ต้องการชมได้จากเมนูด้านบน หรือหากสะดวกใช้แผนที่ก็สามารถจับตุ๊กตาสีส้มบนแผนที่ไปวางยังจุดที่ต้องการและเดินชมต่อไปได้ สุดท้ายน้องณัฐชนน คาดหวังว่าผู้ที่เข้าใช้งานจะได้รับประโยชน์ ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ชมศิลปกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคาร ซึ่งหาดูไม่ได้จากกูเกิล สตรีท วิว และสามารถใช้งานได้จากทั่วโลก มีการสนับสนุนหลายภาษาครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก ส่วนคนไทยก็สามารถเที่ยวสถานที่สำคัญได้จากหน้าจอ นักเรียนนักศึกษา ก็นำเว็บไซต์นี้ไปใช้ศึกษาศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ได้แทนการเดินทางไปชมของจริง โดยเฉพาะเด็กในต่างจังหวัด ที่ไม่มีโอกาสเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในชนบทได้.