Blackberry กำลังวางแผนขายหุ้นบริษัทเพื่อหาทางรอด ผลเบอร์รี่สีดำกำลังจะเน่าจริงเหรอ?

Must Read

Jiradech Suchada
Jiradech Suchadahttps://www.itmoamun.com/
การตลาดออนไลน์ เทคโนโลยี ธุรกิจ Passive Income ทำตัวเป็น Blogger แถมกด Shutter รัวๆ แล้วออกไปปั่นๆ พร้อมทั้งเก็บเป็นเรื่องราวดีๆผ่านพื้นที่ตรงนี้ออกมาเป็นบทความ รูปภาพ วิดีโอ แบบเล่าสู่กันฟัง อย่าลืมมาติดตามกันนะครับ

แบล็กเบอร์รี (Blackberry) ประกาศว่ากำลังจัดตั้ง “คณะกรรมการวางแผนทางเลือกเชิงกลยุทธ์” เพื่อร่วมทุนหรือหาหุ้นส่วนบริษัท รวมถึงการสร้างพันธมิตร ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า บีบีกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนขายหุ้นบริษัทเพื่อหาทางรอดให้ตัวเอง Blackberry การประกาศครั้งนี้ทำให้มองแล้วนึกถึงผลไม้ที่เริ่มเหี่ยวเฉาจนแม่ค้าต้องนำมาเร่ขายก่อนที่ผลไม้นั้นจะเน่าเสีย แต่จุดที่แตกต่างคือนัยที่ซ่อนอยู่มากมายจากสัญญาณการประกาศขายบริษัทในครั้งนี้ ทั้งประเด็นสาเหตุของการเหี่ยวเฉาของแบล็กเบอร์รีไฮเทคลูกนี้ที่คาดว่าจะแฝงอยู่กับ 5 ปัจจัยซึ่งส่งเสริมกันอย่างลึกซึ้ง รวมถึงกรณีที่ซีอีโอแบล็กเบอร์รีจะสามารถทำเงินได้มากกว่า 55.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 พันล้านบาท หากมีบริษัทใดตัดสินใจซื้อกิจการแบล็กเบอร์รี ขณะที่ทั่วโลกอาจจะหันมามองแคนาดาว่าวงการนวัตกรรมเมืองใบเมเปิลกำลังเข้าสู่ยุคสุญญากาศ เนื่องจากแบล็กเบอร์รีได้ชื่อว่าเป็นบริษัทนวัตกรรมแถวหน้าของชาวแคนาเดียน สิ่งที่ BlackBerry คิดผิด 5 ประการ ต้องยอมรับว่าวิกฤต “แบล็กเบอร์รีมนต์เสื่อม” นั้นเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากช่วงก่อนหน้านี้แบล็กเบอร์รีเคยเป็นสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ซึ่งมีผู้ใช้งานหลายสิบล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานและผู้บริหารที่ปลื้มใจกับระบบรับส่งอีเมลที่รวดเร็วทันใจและระบบข้อความสนทนาที่ปลอดภัยเปี่ยมประสิทธิภาพ แต่วันนี้แบล็กเบอร์รีถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าดำเนินนโยบายผิดพลาด 5 จุดจนทำให้แบล็กเบอร์รีรั้งท้ายในตลาดสมาร์ทโฟน ขณะที่วิกฤต “ผู้ใช้เมินแบล็กเบอร์รี” ยังทำให้บีบีสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดพบว่าตลอดเดือนเมษายน-มิถุนายน 2013 ที่ผ่านมาแบล็กเบอร์รีสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนราว 6.8 ล้านเครื่อง ขณะที่คู่แข่งอย่างซัมซุง (Samsung) สามารถจัดส่งสมาร์ทโฟนได้มากกว่า 72.4 ล้านเครื่อง, แอปเปิล (Apple) จัดส่งได้ 31.2 ล้านเครื่อง, แอลจี (LG) จัดส่งได้ 12.1 ล้านเครื่อง, เลอโนโว (Lenovo) 11.3 ล้านเครื่อง และแซตทีอี (ZTE) 10.1 ล้านเครื่อง BB มองข้าม iPhone  โลกต้องบันทึกว่าอดีตซีอีโอร่วมของแบล็กเบอร์รีอย่างไมค์ ลาซาริดิส (Mike Lazaridis) นั้นเคยดูแคลนไอโฟนรุ่นแรกมาก่อน โดยอดีตซีอีโอร่วมของบีบีเคยมองว่าสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของแอปเปิลนั้นเป็นของเล่นแสนธรรมดา เนื่องจากแบตเตอรี่ของไอโฟนยุคแรกยังไม่ยืดยาวพอ ขณะเดียวกันก็เชื่อมั่นในพฤติกรรมผู้บริโภคว่าจะไม่ชื่นชอบการ“พิมพ์บนกระจก” ซึ่งจะทำให้แบล็กเบอร์รีเป็นต่อมากเมื่อเทียบกับไอโฟน เนื่องจากบีบีมีคีย์บอร์ด QWERTY เต็มยศและสามารถพิมพ์ได้สะดวก แต่ไอโฟนจากวันนั้นสามารถพัฒนามาจนมีมาตรฐานสูงในวันนี้ ความใหญ่ของหน้าจอ ระบบท่องเว็บที่สะดวกสบาย ความลื่นไหลของการเล่นไฟล์เพลงและวิดีโอคุณภาพสูง รวมถึงอีกหลายคุณสมบัติที่แบล็กเบอร์รีและค่ายสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ในช่วง 3-4 ปีที่แล้วทำไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือแบล็กเบอร์รีไม่สามารถปรับตัวให้เร็วพอจนทำให้ไล่ตามความต้องการของตลาดไม่ทัน ความผิดพลาดข้อนี้ไม่ต่างจากอดีตยักษ์ใหญ่อย่างโนเกีย (Nokia) ซึ่งทำให้โนเกียต้องเสียตำแหน่งแชมป์ในตลาดโทรศัพท์มือถือโลกที่ครองเก้าอี้มานานกว่า 10 ปีไปอย่างน่าเสียดาย BlackBerry PlayBook คือความสิินเปลือง ต้องยอมรับว่าแท็บเล็ตแบล็กเบอร์รีเพลย์บุ๊ก (BlackBerry PlayBook) นั้นเป็นหนึ่งในความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับแบล็กเบอร์รีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้บีบีเปิดตัวแท็บเล็ตครั้งแรกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2010 ตามหลังการเปิดตัวแท็บเล็ตไอแพด (iPad) ก่อนจะเริ่มเปิดตลาดอย่างเต็มตัวในเดือนเมษายน ปี 2011 ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนบางรายเชื่อว่า ในช่วงเวลานั้นผู้บริหารแบล็กเบอร์รีบริหารบริษัทผิดพลาด โดยเฉพาะนโยบายการมุ่งแข่งขันกับ iPad ด้วยการพัฒนาแท็บเล็ตลงสู่ตลาดโดยเร็วที่สุด ผลคือบีบีต้องดึงทรัพยากรจากทีมพัฒนาสมาร์ทโฟนมาให้กับทีมพัฒนาแท็บเล็ตต่อเนื่องหลายเดือน ทั้งที่แบล็กเบอร์รีควรจะตัดสินใจมองข้ามตลาดแท็บเล็ตไป และหันมาพัฒนาธุรกิจหลักอย่างสมาร์ทโฟนให้มากเท่าที่ควร (ก่อนหน้านี้ยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้รวมแบล็กเบอร์รี) สิ่งหนึ่งที่ทำถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจแท็บเล็ต คือการพัฒนาให้เพลย์บุ๊กทำงานบนระบบปฏิบัติการคิวเอ็นเอ็กซ์ (QNX) ซึ่งบีบีซื้อกิจการมาในช่วงก่อนหน้านี้ วันนี้ระบบปฏิบัติการ QNX และเพลย์บุ๊กโอเอส (PlayBook OS) กลายเป็นรากฐานของระบบปฏิบัติการแบล็กเบอร์รีเท็น (BlackBerry 10) ที่บีบีทำตลาดในขณะนี้ ซึ่งหากบีบีตัดสินใจข้ามการพัฒนาเพลย์บุ๊ก แล้วไปทุ่มพัฒนา BlackBerry 10 ให้สามารถวางตลาดได้เร็วกว่านี้ ย่อมจะทำให้บีบีมีโอกาสลืมตาอ้าปากในตลาดสมาร์ทโฟนได้ดีกว่า Blackberry ปรับตัวเองช้าไป อดีตซีอีโอคู่ของแบล็กเบอร์รีอย่าง ไมค์ ลาซาริดิส (Mike Lazaridis) และจิม บัลซิลลี (Jim Balsillie) คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการล่มสลายของแบล็กเบอร์รีในวันนี้มากกว่าซีอีโอคนปัจจุบันอย่างทอร์สเท็น ไฮนส์ (Thorsten Heins) เนื่องจากทั้งคู่คือผู้วางกลยุทธ์ที่ผิดพลาดในเวลานั้นด้วยการมองข้ามคู่แข่งอย่างกูเกิลและแอปเปิล และหันไปละลายเงินกับโครงการพัฒนาแท็บเล็ต ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดก็สายไปเสียแล้ว ทั้งหมดนี้สะท้อนว่ากรรมการบริหารแบล็กเบอร์รีควรรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วกว่านี้ และลงมือแก้ปัญหาวิธีใดก็ได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการปลด 2 ซีอีโอ เนื่องจากชัดเจนว่าทั้งคู่ไม่สามารถรับมือกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่เมื่อถามว่าเหตุใดกรรมการบริหารแบล็กเบอร์รีจึงไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น? ทั้งที่บอร์ดแบล็กเบอร์รีควรจะได้เห็นทิศทางของยอดขายที่สะท้อนวิกฤตของแบล็กเบอร์รีอย่างชัดเจน จุดหนึ่งคือมีความเป็นไปได้ที่กรรมการบริหารแบล็กเบอร์รีจะหวั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสั่งปลด 2 ผู้ก่อตั้งแบล็กเบอร์รีไปในเวลานั้น ซึ่งหากว่าบอร์ดกล้าตัดสินใจได้ดีและเร็วกว่านี้ก็อาจทำให้แบล็กเบอร์รีมีอนาคตที่ดีกว่า สำหรับลาซาริดิส และบัลซิลลีนั้นลาออกจากตำแหน่งซีอีโอร่วมเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2011 พร้อมส่งมอบอำนาจให้ไฮนส์ซึ่งขึ้นเป็นซีอีโออย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2012 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการวิจารณ์ว่าแบล็กเบอร์รีนั้นถดถอยเกินกว่าจะไล่ตามคู่แข่งในตลาดสมาร์ทโฟนได้ทัน Blackberry ไม่ทุ่มเทต่อวิถี Bring Your Own Device เป็นเรื่องชัดเจนว่า หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งของแบล็กเบอร์รีคือเซิร์ฟเวอร์สำหรับองค์กร BlackBerry Enterprise Server (BES) ที่ผ่านม เซิร์ฟเวอร์ BES เป็นเครื่องมือที่ธุรกิจจะใช้เพื่อจัดการเครื่องแบล็กเบอร์รีของพนักงานในองค์กรให้สามารถรับส่งอีเมลเกี่ยวกับการงานได้อย่างปลอดภัย แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อไอโฟนและสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าสามารถใช้ได้ดีกับแอปพลิเคชันในองค์กรธุรกิจ ทำให้หลายองค์กรเริ่มอนุญาตให้พนักงานนำสมาร์ทโฟนของตัวเองมาใช้ในการทำงานได้ ซึ่งเป็นที่มาของวิถี BYOD หรือ Bring Your Own Device โดยปรากฏว่าอุปกรณ์ส่วนตัวที่พนักงานพร้อมใจนำมาใช้ที่ออฟฟิศนั้นเป็นไอโฟนและสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ไม่ใช่แบล็กเบอร์รี สิ่งที่เกิดขึ้นคือเซิร์ฟเวอร์ BES ไม่สามารถจัดการอุปกรณ์ไอโฟนและแอนดรอยด์ได้เหมือนกับที่จัดการเครื่องแบล็กเบอร์รี ทำให้หลายองค์กรเริ่มหันไปหาระบบงานไอทีคู่แข่งของแบล็กเบอร์รีที่สามารถจัดการอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงานได้อย่างเต็มรูปแบบในที่สุด ซึ่งปรากฏว่าแบล็กเบอร์รีไม่ได้เพิ่มความสามารถในการจัดการไอโฟนและสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ให้กับเซิร์ฟเวอร์ BES กระทั่งเซิร์ฟเวอร์พร้อมซอฟต์แวร์ใหม่ BES 10 ถูกเปิดตัวในช่วงต้นปี 2013 ที่ผ่านมา BlackBerry 10 เปิดตัวช้าไป เลื่อนไปก็เลื่อนมา.. แบล็กเบอร์รีนั้นเปิดตัวระบบปฏิบัติการเจเนอเรชันใหม่ BlackBerry 10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ที่ผ่านมา ก่อนที่อุปกรณ์ BB10 จะวางตลาดในช่วง 2-3 เดือนถัดมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) ของแอปเปิลนั้นถูกพัฒนาเป็นเวอร์ชัน 6 แล้ว เช่นเดียวกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิลที่ถูกพัฒนาถึงเจเนอเรชันที่ 4 หรือแม้แต่ไมโครซอฟท์ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน (Windows Phone) ถึงเจเนอเรชันที่ 3 ทั้งหมดนี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หาก BlackBerry 10 สามารถถูกเปิดตัวเร็วกว่านี้สัก 1 ปีก็อาจจะสามารถไล่ตามแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนอื่นได้ทัน แม้การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หาก 2 อดีตซีอีโอร่วมสามารถมองเกมออก และลุยต่อกรไอโฟนได้ทันทีตั้งแต่ปี 2007 (หรือแม้แต่แอนดรอยด์ที่เปิดตัวในปี 2008) ก็มีโอกาสที่จะทำให้บีบีมีสถานะที่ดีกว่าในปัจจุบัน แต่สิ่งที่บีบีทำได้คือการเพิ่มคุณสมบัติให้กับระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS6 และ OS7 เท่านั้น ซึ่งแม้ทั้ง 2 เวอร์ชันจะมีพัฒนาการก้าวกระโดดจาก BlackBerry OS5 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแข่งขันกับแอนดรอยด์ และไอโอเอสได้ ทั้งหมดนี้ บีบีถูกวิจารณ์ว่ามีนโยบายยึดติดกับฮาร์ดแวร์รูปแบบเดิมมากเกินไป จุดนี้จะสังเกตได้ว่าทั้งรุ่น Bold, Curve และ Pearl นั้นไม่เปลี่ยนแปลงดีไซน์เครื่องเลยนานหลายปี ผิดจากผู้ผลิตอุปกรณ์แอนดรอยด์ที่หมั่นสร้างสรรค์อุปกรณ์หลากแบบหลายสไตล์จนโดนใจตลาด ประเด็นความผิดพลาดของการพัฒนาระบบปฏิบัติการของแบล็กเบอร์รีทำให้มีการหันไปมองโนเกียซึ่งสามารถเอาตัวรอดได้เพราะการหันไปหาระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟนได้ทันการณ์ โดยล่าสุดโนเกียออกมาเปิดเผยว่าสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟน “ลูเมีย (Lumia)” ได้สูงเป็นประวัติการณ์ 7.4 ล้านเครื่องในไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้มีการสรุปว่าปัจจุบันสมาร์ทโฟนวินโดวส์โฟนนั้นสามารถจำหน่ายได้มากกว่าสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแบล็กเบอร์รี (BlackBerry) หรือบีบีแล้ว BlackBerry ในแคนาดากำลังหงอย วันนี้อนาคตของแบล็กเบอร์รีเต็มไปด้วยคำถามว่า ใครหนอที่จะมาซื้อกิจการแบล็กเบอร์รีไป? และหากมีการซื้อกิจการบีบีจริง แบล็กเบอร์รีซึ่งเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะมีทิศทางบริษัทอย่างไรในอนาคต? หรือแบล็กเบอร์รีจะถูกขายแยกแผนก หรือจะถูกแยกตัวออกเป็นบริษัทเดี่ยว? หรืออาจจะถูกปิดบริษัทแทนที่จะรักษาแบรนด์บีบีไว้? ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของประเทศแคนาดา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือสายตาที่มองว่าแคนาดาอาจจะเข้าสู่ยุคสุญญากาศด้านนวัตกรรม โดยที่ผ่านมา แบล็กเบอร์รี (ชื่อบริษัทเดิมคือริม หรือ Research In Motion) ถูกมองว่าเป็นอนาคตของแคนาดาแทนบริษัทเครือข่ายอย่างนอร์เทลเน็ตเวิร์กส์ (Nortel Networks) ซึ่งจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูบริษัทล้มละลายในช่วงปี 2009 แต่ในที่สุด บริษัทดาวเด่นนวัตกรรมของแคนาดาในช่วงปี 2000 กลับมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนลดลงจาก 50% เหลือเพียง 3% ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี (ตามข้อมูลจากไอดีซี) หากมองในมุมที่เลวร้ายที่สุด แคนาดาจะได้ชื่อว่ายังไม่มีบริษัทตัวแทนแบล็กเบอร์รีที่จะยืนอยู่ในแถวหน้าของโลกเทคโนโลยี (โดยเฉพาะในกรณีที่มีการปิดบริษัทแบล็กเบอร์รีทิ้งไป) กรณีที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลทำให้เงินทุนการวิจัยและพัฒนาของบริษัทและมหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดามีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบในตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมที่บริษัทรายใหญ่มักจะเป็นปัจจัยทำให้ GDP ของประเทศนั้นขยายตัว CEO เตรียมรับ 55.6 ล้านเหรียญหากขายบริษัทได้ ในกรณีที่แบล็กเบอร์รีมีการขายกิจการ สื่อต่างชาติระบุว่าซีอีโอบีบีจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่า 55.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นค่าเงินเดือนและส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการขาย รวมถึงมูลค่าหุ้นตามอัตราสุดท้ายในไตรมาส 4 ของบริษัท แต่มีข้อแม้ว่าซีอีโอแบล็กเบอร์รีจะต้องได้ดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอและมีอำนาจในการควบคุมบริษัทต่อไป ปัจจุบันมูลค่าหุ้นแบล็กเบอร์รีเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในช่วงที่ประกาศแผนตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อหาทางรอดให้บริษัท ขณะที่บริษัทยังคงเดินหน้าจัดงานประชุมนักพัฒนาทั่วโลกต่อไป โดยงานครั้งล่าสุดคือ Blackberry Jam Asia ซึ่งจะจัดขึ้นที่ฮ่องกงในวันที่ 26-27 กันยายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักพัฒนาทั่วเอเชีย แน่อนว่าผมก็รู้สึกเสียดายเจ้าผลไม้ที่ชื่อว่าเบอร์รี่สีดำตัวนี้จริงๆครับ เพราะด้วยอะไรที่ทำให้โลกเปลี่ยนกระแสไปใช้งาน ส่งข้อความกัน ผมยังจำยุคที่ใครต่อใครก็ BB หากัน แลก PIN กันได้ดีครับ แต่ตอนนี้ถ้าถามถึง คงไม่มีอีกแล้ว ยังไงก็ต้องยอมรับความจริงครับ ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่เปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้รวดเร็วตลอดเวลา รอกันดูต่อไปนะครับว่าจะมีเข้าไหนที่จะอยู่รอดและเป็นผู้ชนะได้ แต่คงต้องดูกันเป็นรอบปีๆ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงกันได้ อย่าลืมช่วงเวลาที่ผ่านมากที่มีบริษัทมือถืออย่าง Motorola ไม่ก็ Nokia ที่ทั้งสองก็เคยล้มเหมือนกัน.. ขอบคุณบทความวิเคราะห์จาก : CyberBiz

อัพเดท! ก่อนใคร

เรื่องราวเจ๋งๆ ล้ำๆ สดใหม่ถึงคุณโดยตรงเพียงแค่กรอก Email ไว้เท่านั้น

รายละเอียดเงื่อนไขที่ privacy policy.

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

- Advertisement -

Latest News

เผยรายงานคนไทยเผชิญ SMS หลอกลวงมากสุดในเอเชียปี 2566 จาก Whoscall

ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลเป็นสิ่งที่ไหลเวียนได้รวดเร็วที่สุด ประเด็นเรื่องความปลอดภัยสารสนเทศก็เป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างต่อเนื่อง Whoscall, แอปพลิเคชั่นชั้นนำที่ช่วยในการระบุตัวตนของสายเรียกเข้าไม่ที่รู้จักและการป้องกันข้อความสแปม, ได้เปิดเผยรายงานประจำปี 2566 ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยตกเป็นเหยื่อของ SMS หลอกลวงมากกว่าใครในเอเชียด้วยจำนวนถึง 58 ล้านข้อความ แม้ว่าในภูมิภาคเอเชียโดยรวมจะพบว่าการหลอกลวงมีแนวโน้มลดลงจากการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน แต่ในประเทศไทยกลับพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ การหลอกลวงเหล่านี้รวมถึงการส่งข้อความที่มีลิงก์ปลอม, การหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนและเว็บพนัน และการใช้ชื่อของหน่วยงานรัฐในการหลอกลวง การรายงานจาก Whoscall ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับข้อมูล พวกเขายังได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบ URL...
- Advertisement -

More Articles Like This