ทอม ศรีวรกุล ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเอ็นโซโก้ (Ensogo.com) บริษัทในเครือลีฟวิ่งโซเชียล กล่าวถึงเทรนด์ตลาดเดลีดีลทั่วโลกว่าผู้ให้บริการรายเล็กจะไม่สามารถอยู่รอด โดยยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่การสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเดลีดีลที่มีจำนวนมากกว่า 380 รายในเดือนม.ค.นั้นมีการปิดตัวลงจนเหลือเพียง 250 รายในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา “รายเล็กอยู่ไม่ได้เพราะธุรกิจนี้ต้องพัฒนาตัวเองตลอด และร้านค้าก็ต้องเลือกทำโปรโมชันกับเดลีดีลรายเดียว ซึ่งถ้าผมเป็นร้านค้าตอนนี้ ผมก็อยากไปทำโปรโมชันกับเดลีดีลที่มีสมาชิกมากกว่า” เดลีดีลนั้นเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในโลกออนไลน์ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวออนไลน์ที่เป็นสมาชิกเว็บไซต์ขายดีลจะได้รับข้อเสนอดีลหรือข่าวสารการลดราคาของร้านค้าที่มีเกิน 50% ทุกวัน ดีลเหล่านี้ทำให้ร้านค้าสามารถประชาสัมพันธ์ร้านตัวเองโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และผู้ประกอบการเดลี่ดีลก็จะได้รับส่วนแบ่งจากการซื้อขายดีลที่เกิดขึ้น เงื่อนไขของธุรกิจเดลีดีลลักษณะนี้คือ ร้านค้าจะไม่สามารถจำหน่ายดีลกับหลายเว็บไซต์ได้พร้อมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ร้านค้าต้องเลือกร่วมมือกับเว็บไซต์เดลีดีลที่เชื่อมั่นเท่านั้น นี่เองที่ทำให้เว็บไซต์ดีลที่มีฐานสมาชิกน้อย ไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะมีดีลที่ไม่หลากหลายเท่ารายใหญ่ ทิศทางการปิดตัวของผู้ให้บริการดีลรายวันในประเทศไทยนั้นเริ่มชัดเจนตั้งแต่ปลายปี 2011 จากเดิมที่เคยมีมากกว่า 25 ราย การปิดตัวที่เป็นข่าวดังที่สุดคือในเดือนส.ค. ชาวออนไลน์ในประเทศไทยตื่นตกใจกับการปิดตัวลงของเว็บไซต์ Dealdidi.com ตัวแทนจำหน่ายคูปองส่วนลดร้านค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของตลาดไทย การปิดตัวของ Dealdidi.com ทำให้เกิดปัญหาทั้งกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนว่าไม่สามารถนำดีลที่ซื้อมาไปใช้งานได้ ขณะเดียวกันร้านค้าที่ตกลงจำหน่ายดีลกับ Dealdidi ก็ไม่ได้รับเงินค่าจำหน่ายดีลตามที่ตกลงกันไว้ Dealdidi นั้นเป็นเว็บไซต์ที่บริหารจัดการโดยบริษัท 108 ดีล จำกัด ร้านค้าจำนวนมากไม่สามารถติดตามรับเงินซื้อดีลที่ลูกค้าชำระเงินมาแล้วจาก 108 ดีลได้ ทำให้ร้านค้าต้องสูญเสียรายได้หากให้บริการลูกค้าที่นำดีลซึ่งซื้อมาจาก Dealdidi มาใช้บริการ ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินฟรีและไม่สามารถนำดีลไปใช้งานได้ ขณะนี้ ผู้เสียหายพร้อมใจรวมตัวและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท 108 ดีล จำกัด อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ ยังไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า Dealdidi ปิดตัวไปเพราะอะไร “ผมเองต้องบอกว่าตกใจกับเรื่องการปิดตัวของ Dealdidi เพราะ 2 ปีที่ผ่านมามองว่าเป็นคู่แข่งที่ดี เราเคยวัดว่า Dealdidi เป็นอันดับ 3 ถัดจากเรา” ทอมกล่าวพร้อมอธิบายว่า เทรนด์การปิดบริการเดลีดีลลักษณะนี้ไม่เกิดผลเสียหายต่อผู้บริโภคในประเทศอื่น เพราะการปิดบริการจะเป็นไปตามขั้นตอนตามกฏหมาย “ประเทศอื่น กฎหมายเขาเข้มงวด การจะปิดต้องมีขั้นตอน ผลคือผู้บริโภคไม่รู้สึกเสียเปรียบเมื่อมีการปิดบริการ ตรงกันข้าม เชื่อว่าผู้บริโภคจะเห็นชัดว่าควรซื้อดีลกับผู้ให้บริการที่มั่นคงดีกว่า” ในส่วนของ Ensogo ทอมระบุว่าบริษัทมีนโยบายยินดีคืนเงินหากร้านค้าปิดบริการไปกระทันหัน หรือลูกค้าได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ พร้อมยืนยันว่าอัตราการบอกเลิกรับเมลข่าวสารดีลของสมาชิก Ensogo.com ในไทยนั้นยังไม่น้อยลง ด้าน มร. ทริป แว็กเนอร์ ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ กรุ๊ปปอน ประเทศไทย แสดงความเห็นด้วยกับทิศทางการปิดตัวของธุรกิจดีลรายวันในไทยเช่นกัน และเชื่อว่าไทยจะเหลือผู้ให้บริการเพียง 4 บริษัทเท่านั้นในปีนี้ “ยอมรับว่าการปิดตัวของ Dealdidi มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ไว้ใจธุรกิจออนไลน์น้อยลง แต่กรุ๊ปปอนจะลงทุนอย่างเต็มที่ บนภารกิจสร้างความคุ้มค่าสูงสุดให้ผู้บริโภค และให้โอกาสร้านค้าทำธุรกิจ เชื่อว่าลูกค้าจะเลือกเชื่อใจตามเว็บไซต์เป็นกรณีไป” กรุ๊ปปอนนั้นเป็นเว็บไซต์ดีลรายวันสัญชาติสหรัฐฯที่เริ่มให้บริการเดลี่ดีลในไทยตั้งแต่เดือนมี.ค. 2012 ในชื่อ www.mygroupon.co.th โดยกรุ๊ปปอนยังเป็นรองเบอร์ 1 ในตลาดดีลรายวันของไทยคือ Ensogo.com ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 91% นอกนั้นยังมีบริการคูปองจากเว็บไซต์สนุกดอทคอม ซึ่งทำตลาดมาก่อนหน้านี้ เหนืออื่นใด ผู้ให้บริการดีลรายวันในประเทศไทยยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาด เนื่องจากปัจจุบันชาวออนไลน์ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยมีจำนวนมากกว่า 22 ล้านคน จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 16 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ถือบัตรเครดิต สถิติเหล่านี้เองที่สะท้อนว่าตลาดไทยมีกำลังซื้อ และผู้ให้บริการจะต้องแข่งขันกันสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งชัยชนะจะเป็นของผู้ที่ทำได้ดีที่สุด