นายมนู อรดีดลเชษฐ์ กรรมการบริหาร มูลนิธิซีแอนด์ซีเพื่อการศึกษาและอดีตคณะกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า ตลาดอาเซียนที่กำลังจะเปิดในอีก 3 ปี (เออีซี) กำลังกลายเป็นโอกาสสำคัญที่ซอฟต์แวร์ไทยจะได้ขยายตัวให้เป็นที่ยอมรับในตลาดที่กว้างจากขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรมากกว่า 600 ล้านคน แต่เนื่องจากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ราว 90% เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีศักยภาพทำตลาดได้ดีเทียบเท่าบริษัทใหญ่ๆ ดังนั้นจึงอาจทำให้ซอฟต์แวร์ไทยสูญเสียโอกาสสำคัญครั้งนี้ นายมนู ระบุว่า ช่วงนี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อม โดยหนึ่งในโมเดลที่ทั่วโลกยอมรับใช้สำหรับการวางกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อการแข่งขันกับต่างประเทศ คือ “ไดมอนด์ โมเดล” ของนักเศรษฐศาสตร์ดัง “ไมเคิล พอร์เตอร์” ที่ทำให้เข้าใจศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมของประเทศรวมถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย โดยเน้นการวิเคราะห์ปรับปรุง 4 ด้าน คือ ปัจจัยการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรให้รองรับการขยายตัวของตลาด, การสร้างความต้องการในอุตสาหกรรม, ทำให้เกิดอุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่องภายในประเทศตลอดจนการวางกลยุทธ์และการเตรียมตัวในระดับบริษัทเอง พร้อมกันนี้ยังเสนอว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งเพิ่มจำนวนบัณฑิตที่มีคุณภาพระดับสากล รวมทั้งการผลักดันให้เกิดตลาดซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ในภาครัฐ เพื่อให้เกิดดีมานด์ตลาดและยังทำให้บริษัทเกิดการแข่งขันระหว่างกันเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำซอฟต์แวร์ที่โดดเด่นของผู้ประกอบการหลายๆ รายไปทำตลาด เนื่องจากซอฟต์แวร์ไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้นรัฐจึงควรเป็นผู้นำในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ซอฟต์แวร์ไทย “เด็กรุ่นใหม่เก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องดูว่าทำออกมาแล้วขายได้หรือไม่ ซึ่งรูปแบบที่ดีที่สุดคือ ระบบพี่ดูแลน้องหมายถึงให้บริษัทใหญ่ดูแลบริษัทเล็ก หรือรวมกลุ่มกันไปเพราะถ้าบริษัทเล็กออกไปทำตลาดด้วยตัวเอง สำเร็จยากมาก” นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการป้า กล่าวว่า ปัจจุบันซิป้าได้เร่งผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีโอกาสในตลาด โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ใน 6 อุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, อัญมณีและเครื่องประดับ, เฮลธ์แคร์ ทัวริสซึ่ม, การขนส่ง, เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการศึกษา “งานหลักๆ ที่ซิป้าทำ คือ เป็นตัวกลางหาเงินทุนให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งพัฒนาบุคลากร โดยตั้งเป้าจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆสร้างบุคลากรให้ได้ 3,000 คน โดยแบ่งเป็นด้านดิจิทัล คอนเทนท์ 1,000 คน, สำหรับ 6 อุตสาหกรรมหลัก 1,000 คนและด้านโมบาย, คลาวด์ คอมพิวติ้งและอีคอมเมิร์ซอีกราว 1,000 คน”