พรีเซ้นท์งานหน้าห้องเรียนจะไม่ยากอีกต่อไป! ถ้าคุณใช้วิธีเหล่านี้

Must Read

Nunil
Nunil
แมวตัวหนึ่งอยากเป็นนักเขียน นิสัยเป็ดก็เลยมีความสนใจหลากหลายเป็นพิเศษ

เคยไหมที่พอมีงานให้นำเสนอหน้าห้องทีไรก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากทุกที? การนำเสนองานหน้าชั้นเรียนเป็นสิ่งที่ใครหลายคนกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลัวพูดผิดบ้าง กลัวตอบคำถามไม่ได้บ้าง บางคนก็มือไม้สั่นไปหมด นั่นเป็นเพราะเราไม่เคยชินกับการถูกจ้องมองโดยคนจำนวนมากจึงทำให้เราเกิดอาการประหม่านั่นเอง ผู้เขียนเองตอนเด็ก ๆ ก็มือสั่นเวลาพูดหน้าห้อง แต่พอมีโอกาสได้เตรียมตัวนำเสนอหน้าห้องบ่อย ๆ สมัยเรียนมหาวิทยาลัย การนำเสนองานหน้าห้องกลายเป็นสิ่งที่ผู้เขียนถนัดที่สุดและมักจะได้เกรด A ในวิชาที่มีการนำเสนองาน วันนี้ผู้เขียนจึงอยากมาแบ่งปันสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้เพื่อให้ทุกคนไม่รู้สึกว่าการนำเสนองานเป็นเรื่องยากอีกต่อไป

 

ปรับทัศนคติที่มีต่อการนำเสนอหน้าชั้นเรียน

          การนำเสนองานเป็นทักษะที่เราควรมีติดตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะในชีวิตการทำงานคุณอาจมีโอกาสได้นำเสนอโปรเจ็คสำคัญซึ่งมีผลต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานแน่นอน การนำเสนองานในห้องเรียนจึงถือว่าเป็นการฝึกฝนทักษะไปในตัวและไม่ยากมากเมื่อเทียบกับการทำงานในชีวิตจริง ให้คิดเสียว่าคนที่ฟังเราพูดนั้นคือเพื่อน ๆ และคุณครูที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี เราไม่ได้มานำเสนองานแต่เราเอาเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าให้เพื่อน ๆ และคุณครูฟังต่างหาก ถ้าหากคุณเป็นคนที่เคยรู้สึกอายเพราะมีประสบการณ์โก๊ะ ๆ ในการนำเสนองานหน้าชั้นมาก่อนจนรู้สึกเข็ด ให้คุณลองคิดว่านี่คือเป้าหมายบางอย่างที่คุณต้องเอาชนะมันให้ได้ เพราะความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา สามารถเกิดขึ้นได้เสมอกับคนที่กำลังตั้งใจพัฒนาตนเอง 

 

เลือกรูปแบบและวิธีการนำเสนอที่เหมาะสม

          การพูดในที่สาธารณะและการนำเสนองานมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือการคำนึงถึงคนฟังเป็นหลัก เมื่อเราทำความเข้าใจว่าคนฟังเป็นใคร ต้องการอะไรจากการมาฟังก็จะทำให้เราเตรียมตัวได้ถูกจุด ในกรณีที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา เราอาจจะต้องดูว่าอาจารย์ที่สอนเราเป็นคนแบบไหน เคร่งครัดเรื่องความเป็นวิชาการมากน้อยเพียงใด เพื่อนนักเรียนนักศึกษาด้วยกันส่วนใหญ่แล้วย่อมอยากฟังอะไรสนุก ๆ ที่น่าสนใจ แต่เราจะปรับวิธีการพูดและเนื้อหาอย่างไรให้เป็นทางการเพื่อให้เข้าเกณฑ์การให้คะแนนของอาจารย์ไปด้วย ซึ่งการเลือกวิธีนำเสนอนี้รวมไปถึงการทำสไลด์นำเสนอที่เหมาะสมกับการนำเสนอครั้งนั้น ๆ ด้วย (สำหรับผู้เขียนเองเรียนคณะเกี่ยวกับความสร้างสรรค์จึงค่อนข้างมีอิสระในการสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอเต็มที่แต่แม้เป็นเนื้อหาวิชาการที่ยากเพียงใด)

 

การเตรียมตัวก่อนนำเสนองาน

          สิ่งสำคัญในการที่เราจะเล่าอะไรให้ใครฟังก็คือการเข้าใจเรื่องราวที่เราจะเล่าอย่างถ่องแท้ การนำเสนองานก็เช่นกัน บางครั้งที่เรากลัวการนำเสนออาจเป็นเพราะเราไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอจริง ๆ จึงต้องบริหารจัดการเวลาให้ดีเพื่อศึกษาหัวข้อที่เราต้องนำเสนอให้เข้าใจ เพราะเมื่อเราเข้าใจแล้วเราจะสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือเวลา เราต้องวางแผนว่าแต่ละหัวข้อที่เราจะพูดใช้เวลานานเท่าใด เพื่อที่ตอนนำเสนอจริงจะได้ใช้เวลาไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินกว่าที่กำหนดไป สุดท้ายเมื่อเราทำความเข้าใจเนื้อหาแล้ว กำหนดหัวข้อและเวลาที่จะพูดแล้ว ขั้นต่อไปคือการฝึกซ้อมบ่อย ๆ จนเกิดความมั่นใจก่อนนำเสนอจริง

 

ระหว่างนำเสนองาน 

          ระหว่างการนำเสนอสติและสมาธิเป็นเรื่องสำคัญ เราควรมีสมาธิอยู่กับตัวเอง ไม่ควรเอาใจไปจดจ่ออยู่ที่ปฏิกิริยาของคนฟังมากเกินไปเพราะจะยิ่งทำให้เราประหม่า คุณอาจจะหาจุดโฟกัสจุดใดจุดหนึ่งเพื่อให้คุณมีสมาธิมากขึ้น เช่น การมองหน้าเพื่อนสนิทที่นั่งฟังอยู่ แต่ทั้งนี้การส่งสายตากับผู้ฟังให้ทั่วทั้งห้องก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันเพราะมันจะทำให้คนฟังรู้สึกได้ถึงความสนใจต่อผู้ฟังที่เรามี ฉะนั้นเราจึงต้องพูดและส่งสายตาให้คนฟังอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป หากมีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น เช่น พูดผิด สไลด์ไม่ขึ้นตัวหนังสือ ให้คุณขออภัยอย่างจริงใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีที่คุณถนัด เช่น อธิบายเพิ่มเติมให้เห็นภาพ หรือชวนผู้ฟังตั้งคำถามและโต้ตอบกัน ไม่ต้องกลัวว่าเพื่อนจะมองคุณแย่เพราะคุณนำเสนอผิดพลาดหรอกนะ

 

การตอบคำถามหลังนำเสนอ

          เมื่อถึงช่วงตอนคำถาม ถ้าเป็นคำถามที่เรารู้คำตอบหรือมีความรู้เพิ่มเติมอยู่แล้วก็ตอบให้ผู้ฟังเข้าใจ ถ้าเป็นคำตอบที่เราตอบไม่ได้ก็ให้เราตอบตามตรงว่าเราไม่รู้และจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาตอบในโอกาสหน้า เพราะการที่เราพยายามตอบคำถามที่เราไม่รู้จะยิ่งกลายเป็นการแถและสร้างข้อมูลผิด ๆ ไป ซึ่งเพื่อนเราอาจจะไม่รู้แต่อาจารย์ที่ให้คะแนนเราดูออกแน่นอน การตอบคำถามจึงขึ้นอยู่กับว่าคุณเตรียมตัวมาดีแค่ไหนหรือสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีแค่ไหนนั่นเอง สุดท้ายแล้ว การนำเสนองานที่ดีก็ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อช่วยให้เราเรียนรู้ ถ้ามีโอกาสนำเสนองานหน้าชั้นเรียนก็ขอให้คุณลองนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้และเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะของคุณต่อไป เพราะประสบการณ์จะสอนให้คุณค้นพบแนวทางที่เหมาะสมกับตัวคุณนั่นเอง

อัพเดท! ก่อนใคร

เรื่องราวเจ๋งๆ ล้ำๆ สดใหม่ถึงคุณโดยตรงเพียงแค่กรอก Email ไว้เท่านั้น

รายละเอียดเงื่อนไขที่ privacy policy.

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here

- Advertisement -

Latest News

สรุปสถานการณ์ตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก: ผลกระทบจาก Fed, ราคาน้ำมัน

ตลาดหุ้นทั่วโลกประสบกับการปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้านราคาน้ำมันพบกับความผันผวน โดยมีการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อน และลดลงในวันที่ 8 เมษายน หลังการเจรจาหยุดยิงในตะวันออกกลาง ทองคำก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวในไต้หวันส่งผลกระทบจำกัดต่ออุตสาหกรรมผลิตชิป และตลาดหุ้นจีนได้รับประโยชน์จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด เงินเฟ้อในยุโรปก็แสดงถึงการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การลดดอกเบี้ยจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเดือนมิถุนายน ด้านผู้จัดการกองทุนต่างคาดการณ์ว่าตลาดโดยรวมจะแกว่งตัวตามข้อมูลเงินเฟ้อและผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐฯ ภาพรวมตลาดที่ผ่านมาแกว่งตัวในแนวข้าง...
- Advertisement -

More Articles Like This