ช่วงนี้อากาศร้อนหลายบ้านที่มีแอร์ หรือบางที่ทำงานก็เปิดแอร์กันอยู่ทุกวันอยู่แล้วใช่ไหม? ชาวไอทีเมามันส์หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าการเปิดแอร์อยู่ในห้องแอร์นั้นก็เสี่ยงเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้เหมือนกันนะครับ มาดูกันว่ามีโรคอะไรกันบ้าง จะได้เตรียมตัวรับมือกับโรคเหล่านั้นได้
โรคที่มากับห้องแอร์
จากข้อมูลในหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ที่ได้ถูกหยิบมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ สสส. นั้นมีโรคที่มีความเสี่ยงเป็นดังนี้
- โรคทางเดินหายใจ โพรงจมูกของคนเรามีเส้นเลือดแดงขนาดเล็ก และผนังบางจำนวนมากเพื่อทำหน้าที่ปรับอากาศที่เย็น หรือแห้งจากภายนอกให้มีความอบอุ่นและความชื้นเหมาะสมกับอุณหภูมิของร่างกาย แต่ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น โดยเฉพาะหากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เซลล์ต่างๆ จะแห้งลงกว่าเดิม เชื้อโรคจึงสัมผัสกับเซลล์ได้โดยตรง โดยเฉพาะอากาศที่เย็น และไม่มีการถ่ายเทภายในห้อง เชื้อไวรัสจะเจริญเติบโตได้ดีมาก
- โรคลีเจียนแนร์ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบในเครื่องปรับอากาศเป็นต้นเหตุ การเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงประมาณ 39 องศาเซลเซียส มีอาการไอแห้งๆ ปวดท้อง เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้หากลามไปกินเนื้อปอดทั้งสองข้างก็อาจนำมาซึ่งภาวะการหายใจล้มเหลวได้
- โรคไข้ปอนเตียก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาต่ออากาศปนเชื้อโรคจากแอร์เข้ามา ทำให้ป่วยไปประมาณ 2-5 วัน แล้วจากนั้นอาการจะค่อยๆ หายไปได้เอง
- โรคจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นวัณโรค อีสุกอีใส หืดหอบ ปอดบวม หรือหัดเยอรมันอาจมีสาเหตุมาจากอากาศที่ผ่านช่องแอร์มาก็ได้ เพราะในเครื่องปรับอากาศมีเชื้อโรคที่แฝงมากับแอร์เย็นๆ มากมาย
- ผื่นแพ้ ผิวหนัง แม้เครื่องปรับอากาศจะทำให้คลายร้อนลงได้ แต่หากเปิดแอร์แล้วได้กลิ่บอับ นั่นแปลได้ว่าเครื่องปรับอากาศของคุณมีเชื้ออันตรายแฝงอยู่มากจนล้นแล้ว
- โรคตึกเป็นพิษ อากาศเย็นๆ ที่ออกมาจากสารระเหยจากสีทาผนัง เครื่องซีร็อกซ์ พรินเตอร์ ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรมรวมอยู่ด้วย ก็อาจทำให้เกิดอาการอ่อนล้า ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา
- ภาวะติดเชื้อ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐ เผยข้อมูลว่าในห้องแอร์อาจเป็นมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกหลายเท่าตัว มีแนวโน้มจะเกิดอาการติดเชื้อได้มากกว่าคนที่อยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะกับคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
- ผิวแห้ง ผิวจะแห้งกร้านและก่อให้เกิดอาการคันก็จะมากขึ้นไปด้วย โอกาสติดเชื้อทางผิวหนังก็จะเพิ่มขึ้น
- อ้วนขึ้น การอยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ร่างกายก็ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้เรา ลดโอกาสในการเบิร์นหรือได้ดื่มน้ำเยอะขึ้น หากจำเป็นต้องอยู่ในห้องแอร์จริงๆ ก็อย่าลืมล้างฟิลเตอร์เครื่องปรับอากาศเป็นประจำด้วย
ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่ห้องแอร์เป็นเวลานานๆ
- การอาบน้ำ สบู่ ครีมอาบน้ำ เลือกใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว และอ่อนโยนต่อผิว หลีกเลี่ยงสบู่หรือครีมอาบน้ำที่ทำให้ผิวแห้งตึง
- ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์บำรุงผิว เมื่ออาบน้ำเสร็จใหม่ๆ ให้รักษาความชุ่มชื่นของผิวกายด้วยการชโลมโลชั่นให้ทั่วผิวกาย เน้นเลือกใช้โลชั่นที่ช่วยบำรุงเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว เน้นบำรุงเป็นพิเศษบริเวณแขน ขา ข้อศอก เข่า หรือผิวที่ต้องเผชิญกับความเย็นโดยตรง ในที่ทำงานอย่าลืมหาโลชั่นขวดเล็กๆ มาวางไว้บนโต๊ะ หากรู้สึกว่าผิวแห้งเมื่อไหร่จะได้หยิบมาทาบำรุงได้สะดวก ในส่วนของผิวหน้านั้นให้เลือกใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์บำรุงผิว ที่มีส่วนช่วยเติมความชุ่มชื่นให้ผิว เพื่อดูแลรักษาผิวสวยให้อยู่กับเราไปนานๆ
- เพิ่มความชื้นในห้องทำงาน ในห้องแอร์อากาศมักจะขาดความชื้น จนทำให้ผิวแห้งแตกได้ง่าย ลองเพิ่มความชื้นในที่ทำงานด้วยการหาต้นไม้เล็กๆ มาวางไว้บนโต๊ะทำงาน หรือจะนำน้ำมาตั้งไว้สักแก้วก็จะช่วยเติมความชื้นในห้องได้ ที่สำคัญสีเขียวของต้นไม้ยังช่วยให้เราสดชื่น คลายเครียด เป็นที่พักสายตาเมื่อต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ได้อีกด้วย
- ดื่มน้ำสะอาด วิธีเติมความชุ่มชื่นให้ผิวที่ทำง่ายที่สุดคือการดื่มน้ำ ในแต่ละวันลองดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 – 10 แก้ว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว และควรดื่มน้ำอุ่นจะดีกว่าการดื่มน้ำเย็น เมื่อดื่มน้ำในปริมาณที่แนะนำเป็นประจำ จะสังเกตได้ว่าผิวจะชุ่มชื่น สดใส อย่างเห็นได้ชัดเจน เมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
- อาหารการกินที่มีประโยชน์ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่ผิว ให้พร้อมรับมือกับทุกสภาพอากาศ ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาวก็มั่นใจได้ว่าจะอวดผิวสวยได้ทุกวัน
เอาละครับ สำหรับชาวไอทีเมามันส์ท่านไหนที่ต้องอยู่ห้องแอร์เวลานานๆก็ต้องระวังกันและดูแลตัวเองกันด้วยนะครับ เพื่อที่จะปลอดโรค ปลอดภัย ชีวิตสดใส ร่างกายแข็งแรงสู้โลกร้อนกัน
Reference
- 9 โรคที่เกิดจากห้องแอร์ at thaihealth
- ป้องกันไม่ให้ผิวแย่ เมื่อต้องทำงานในห้องแอร์ at positifthailand